22 ตุลาคม 2564

ประเทศไทยพัฒนาแผนงานส่งเสริมชาวนาปลูกข้าวลดโลกร้อน เร่งเปิดทางรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว

นรวิชญ์ สุวรรณกาญจน์ กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร

กรมการข้าวจับมือจีไอแซดตั้งเป้าส่งเสริมการทำนา เพิ่มขีดความสามารถชาวนาไทยให้สามารถปรับตัวและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตรายต่อภูมิอากาศโลก 

ดร. อันญ่า เอิลเบค
ดร. อันญ่า เอิลเบค ผู้อํานวยการส่วนธนกิจการเกษตร กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำเทศไทย ร่วมกับกรมการข้าวพัฒนาแผนงานเพื่อการปลูกข้าวที่มีคุณสมบัติช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยให้ชาวนาสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ชื่อโครงการ “การเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Thai Rice GCF” เพื่อนำเสนอให้กับกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ซึ่งเป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาเตรียมความพร้อมและสามารถพัฒนาวิธีการปลูกข้าวลดโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

คาดว่าชาวนามากถึง 250,000 ครัวเรือนใน 15 จังหวัดภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงได้รับประโยชน์จากแผนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว  ผ่านการส่งเสริมให้ชาวนาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเทคนิคการทำนาในรูปแบบใหม่ เช่น การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ การจัดการฟางและตอซัง การอบรมการการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และการส่งเสริมชาวนาให้ได้รับรองจากมาตรฐานข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) เป็นต้น  

เทคนิคการปลูกข้าวรูปแบบใหม่นี้  สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาได้มากถึง 4.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในระยะเวลา 5 ปีของแผนการดำเนินงาน และยังช่วยให้ชาวนาสามารถรับมือจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานขึ้น โครงการนี้ยังนำเสนอมาตรการส่งเสริมการประกันภัยพืชผลเนื่องด้วยความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ เพื่อช่วยลดความเปราะบางทางการเงินของสมาชิกในครัวเรือนของเกษตรกรได้มากถึง  1.2 ล้านราย

ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย
ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงการพัฒนาแนวคิดนี้ว่า “โครงการ Thai Rice GCF นอกจากจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาแล้ว ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวของชาวนาไทยให้สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุก ๆ ปี แนวคิดของโครงการฯ ยังสามารถช่วยต่อยอดการดำเนินงานของโครงการที่มีอยู่และเป็นต้นแบบกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับภาคการเกษตรอื่น ๆ เพื่อปรับตัวและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ”

ข้าวมีความสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  อย่างไรก็ตามวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมโดยการขังน้ำในนาเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการสะสมของก๊าซมีเทน ซึ่งจัดเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่าจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change)

นอกจากนี้ภาคการเกษตรยังจำเป็นต้องอาศัยลมฟ้าอากาศจึงมีความเปราะบางและได้ผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงและสุดขั้ว เช่น ภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลเสียหายทั้งคุณภาพและผลผลิตทางการเกษตร ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศและสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรนับล้านราย

ข้าวมีความสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างไรก็ตามวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมโดยการขังน้ำในนาเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการสะสมของก๊าซมีเทนต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

คณะทำงานพัฒนาต่อยอดแนวคิดจากโครงการข้าวที่ดำเนินงานอยู่เช่น โครงการยกระดับความสำคัญของข้าวยั่งยืนผ่านเวทีข้าวยั่งยืน (SRP) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) 

กรมการข้าว และจีไอแซดทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อระบุกิจกรรมและกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยในฐานะเจ้าของโครงการฯสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมการข้าวจะรับหน้าที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติการ (Executing Entity) ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการฯ และจีไอแซดจะทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยงานปฏิบัติการและหน่วยงานปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง (Accredited Entity) ดูแลการดำเนินงานภาพรวมทั้งหมดของโครงการและรายงานความคืบหน้ากลับไปยังกองทุนภูมิอากาศสีเขียว

คณะทำงานได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เวทีข้าวยั่งยืน รวมทั้งตัวแทนจากภาคเอกชนและการศึกษา เป็นต้น

ก่อนหน้านี้คณะทำงาน ได้จัดการประชุมออนไลน์ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานหลักของประเทศ (National Designated Authority) ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียวเพื่อนำเสนอแนวคิดและปรึกษาหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดทำและนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับโครงการนี้ให้กับทางกองทุนฯ 

ในกรณีที่แนวคิดโครงการ Thai Rice GCF ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานเลขาธิการของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว  คณะทำงานจะร่างข้อเสนอโครงการฯเพื่อยื่นขอเงินทุนสนับสนุนจากทางกองทุนฯ อย่างเป็นทางการในลำดับต่อไป

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

Factsheet: Strengthening Climate-Smart Rice Value Chains
เอกสารภาษาไทยโครงการเพิ่มศักยภาพห่วงโซ่มูลค่าของข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN