29 มิถุนายน 2566

โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC-EMC): ความมุ่งมั่นร่วมกันสู่เป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนจากภาคเกษตรของประเทศไทย

เรื่องและภาพ: เกียรติยศ วงศ์อุดมเลิศ

ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2030 ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ในขณะที่ส่วนแบ่งจากการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนยังต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานยั่งยืนของประเทศไทย จึงได้มีการจัดตั้งโครงการความร่วมมือไทย–เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Thai-German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate (TGC-EMC)
คุณ พีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กล่าวเปิดงาน
โครงการ TGC-EMC เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของประเทศไทยไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งโครงการฯ ประกอบด้วยห้าภาคส่วน ได้แก่ ภาคส่วนพลังงานชีวมวล (Biomass) ภาคส่วนพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ภาคส่วนอุตสาหกรรม (Industry) ภาคส่วนการขนส่ง (Transportation) และภาคส่วนการเงิน (Finance) ทั้งนี้ภาคส่วนพลังงานชีวมวล (Biomass) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนของประเทศไทยผ่านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการแปลงเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น จากข้าวและอ้อย เป็นพลังงานทดแทนและส่งเสริมความยั่งยืน อันก่อให้เกิดประโยชน์หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคเกษตรและพลังงาน การช่วยเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ของเกษตรกร และการลดมลพิษทางอากาศ เป็นต้น
คุณ อุรัชชา ประสิทธิ์พงษ์ชัย เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ TGC-EMC ภาคส่วนพลังงานชีวมวล กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร (GIZ) ประเทศไทย นำเสนอหัวข้อคาร์บอนเครดิตและ MRV ช่วงกิจกรรมแบ่งกลุ่ม
(คนที่สองจากซ้าย) ดร. บุญรอด สัจจกุลนุกิจ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายพลังงานชีวมวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำเสนอหัวข้อโมเดลธุรกิจ ช่วงกิจกรรมแบ่งกลุ่ม
คุณ โยฮันเนส แคร์เนอร์ (Johannes Kerner) ที่ปรึกษาทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงาน
ในช่วงการเตรียมโครงการ TGC-EMC ภาคส่วนพลังงานชีวมวล ปี 2566 GIZ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนการดำเนินการของโครงการฯเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือ การนำเสนอความคืบหน้าของภาคส่วนพลังงานชีวมวลรวมถึงกรอบเวลาของโครงการฯ การรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกิจกรรมและกลยุทธ์ของภาคส่วนพลังงานชีวมวลเพื่อให้สอดคล้องกับส่วนงานและนโยบายต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการหารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินการของภาคส่วนพลังงานชีวมวลและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนโครงการฯ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันหารือถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อพัฒนาการดำเนินงานของภาคส่วนพลังงานชีวมวลต่อไปในอนาคต
ดร. นานา คึนเคล (Dr. Nana Kuenkel) ผู้อำนวยการและผู้ประสานงาน กลุ่มเกษตรและอาหาร GIZ ประเทศไทย นำเสนอข้อมูลภาพรวมของโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC-EMC)
ในช่วงแรกของการประชุมได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับโครงการ TGC-EMC และแผนปฏิบัติการของภาคส่วนพลังงานชีวมวล (Biomass component) ตลอดจนการอภิปรายกลุ่มสี่หัวข้อ ดังนี้ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) คาร์บอนเครดิตและ MRV (Carbon Credits & MRV) เทคโนโลยี (Technology) และโมเดลธุรกิจ (Business Model) และมีการรับฟังข้อเสนอแนะจากที่ประชุมในตอนท้าย หลังจากการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เกิดการร่วมพัฒนาแผนการดำเนินการให้สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งตกลงกันในเรื่องบทบาทการสนับสนุนของแต่ละหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินโครงการระหว่างปี 2566 และ 2567 เพื่อสรุปเป็นแผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปให้กับ GIZ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานหลัก
ของโครงการฯ
คุณ สายรัก ไชยลังกา ผู้อำนวยการส่วนวิจัยเศรษฐกิจเทคโนโลยี ทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แสดงความคิดเห็นภายในงาน
คุณ ยุทธศาสตร์ อนุรักติพันธุ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน แสดงความคิดเห็นภายในงาน

ท้ายที่สุดแล้วการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พึ่งพาพลังงานทดแทนมีความสำคัญอย่างมากไม่เพียงแต่เป็นการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยตั้งเป้าไว้ แต่ทว่าเป็นการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศด้วย โดยโครงการ TGC-EMC ภาคส่วนพลังงานชีวมวลจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดและยั่งยืน ■

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN