19 ธันวาคม 2566

โครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ฟางข้าวอย่างยั่งยืน ร่วมจัดฝึกอบรมการทำปุ๋ยหมักและหยุดการเผา ณ จังหวัดเชียงราย

เรื่อง: ศิวพร แก้วชุ่มชื่น/กลุ่มโครงการเกษตรและอาหาร

กิจกรรม ฝึกอบรมการทำปุ๋ยหมักและหยุดการเผา

พื้นที่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ ปางกลาง ปางต้นผึ้ง และปางอาณาเขต ของตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องด้านการพัฒนา ด้านความมั่นคงทางอาหาร และด้านการพัฒนาอาชีพตามแผนการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ระยะ 8 ปี (พ.ศ. 2563–2570) ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 หมู่บ้านอยู่ในเขตของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง อย่างไรก็ตามในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ชุมชนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานจากเมืองกรุงกลับสู่ภูมิลำเนา และกลับมาทำอาชีพเกษตรดั้งเดิม เช่น ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงทำให้มีเศษวัสดุทางการเกษตรตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเกษตรกรไม่ทราบว่าต้องจัดการอย่างไรก็จะกลับไปใช้วิธีการเดิม เช่น การเผา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอแม่สรวย

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริก จึงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ฟางข้าวอย่างยั่งยืน จัดการฝึกอบรมการทำปุ๋ยหมักและหยุดการเผา ตลอดจนการเสวนา “แนวทางการใช้ประโยชน์ฟางข้าวและหยุดการเผา” แก่เกษตรกรทั้ง 3 หมู่บ้าน ณ หมู่บ้านปางกลาง ตำบลแม่พริก

นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอแม่สรวย กล่าวเปิดงานว่า “เกษตรกรมักเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เนื่องจากไม่มีทางเลือกในการจัดการ ดังนั้นการสาธิต และส่งเสริมวิธีการเปลี่ยนฟางข้าวและตอซังข้าวโพดให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าจะสามารถสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ช่วยเพิ่มรายได้ และลดการเผาไหม้ในจังหวัดเชียงรายได้ในที่สุด” นอกจากนั้น คุณอุดมยังร่วมเสวนากับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น ได้แก่ ศูนย์โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริก ผู้นำชุมชน ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย อุทยานแห่งชาติดอยหลวง และผู้แทนจาก GIZ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 70 คน

กิจกรรมฝึกอบรมการทำปุ๋ยหมักและหยุดการเผาจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหยุดการเผาทำลายเศษใบไม้ กิ่งไม้ ฟางข้าว ซังข้าวโพด และนำเศษวัสดุเหล่านี้มาทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์เพื่อช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูก โดยเกษตรกรสามารถทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในครัวเรือนด้วยวิธีการทำที่ง่ายและประหยัด และยังเพิ่มมูลค่าปุ๋ยหมักได้ด้วยการนำมาเป็นส่วนผสมวัสดุเพาะกล้า ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจและสามารถเป็นแนวทางสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้

นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องโรคและแมลงข้าวที่สำคัญ การบริการตรวจวิเคราะห์ดินโดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายและสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงราย โดย GIZ ยังได้สนับสนุนอุปกรณ์ทำปุ๋ยหมักและเครื่องจักรเพื่อ ช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้การใช้นวัตกรรมทางการเกษตรผ่านการปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นประโยชน์แก่ชุมชน เกษตรกรในการมุ่งสู่ความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป ■

แกลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN