01 มีนาคม 2567

ชาวลุ่มน้ำยม-น่าน ร่วมใจฝึกฝนรับมือวิกฤตน้ำจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

เรื่อง: รวิวรรณ บุญไชย ภาพ: พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม/กลุ่มโครงการเกษตรและอาหาร

ผู้แทนจากกรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตัวแทนผู้ใช้น้ำ และตัวแทนชุมชนในพื้นที่โครงการ จำนวน 16 คนเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดการน้ำที่ยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมหรรษนันท์ จังหวัดพิษณุโลก

ลุ่มแม่น้ำยม-น่านเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งในเชิงภูมิประเทศและภาคการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำ อย่างไรก็ตามเกษตรกรในพื้นที่กลับได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วม โดยปัญหาการจัดการน้ำทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นท่ามกลางสภาวะโลกร้อน  

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และกรมชลประทาน (ชป.) ตระหนักถึงความสำคัญของทั้งชุมชน ภาครัฐ และเอกชน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดการน้ำที่ยั่งยืนในพื้นที่ จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่โรงแรมหรรษนันท์ จังหวัดพิษณุโลก โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 16คน ประกอบด้วยผู้แทนจากกรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตัวแทนผู้ใช้น้ำ และตัวแทนชุมชนในพื้นที่โครงการ

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานด้านพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA) เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและทำความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการประยุกต์ใช้มาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ พร้อมทั้งสามารถออกแบบมาตรการที่เหมาะสมอย่างผสมผสานโดยมุ่งเน้นการเสนอมาตรการ EbA ซึ่งเป็นมาตรการสีเขียวเพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเทาที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานเพื่อการขับเคลื่อนประเด็นและมาตรการระดับท้องถิ่นให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่และได้นำไปใช้จริง

ตลอดระยะเวลาการฝึกอบรมผู้เข้าร่วมได้เสนอแนวคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และร่วมมือกันคัดเลือกและดำเนินมาตรการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระบุปัญหา ความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ เช่น การจัดสรรงบประมาณ การใช้ที่ดิน และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำผ่านการแสดงบทบาทสมมุติเพื่อฝึกการรับมือต่อสถานการณ์ต่างๆ เช่น การจำลองสถานการณ์เป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำนาอยู่บนที่ดินที่ถูกกำหนดให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ดำเนินมาตรการ EbA หรือสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ระดับชำนาญการที่รับผิดชอบโครงการก่อสร้างสีเทาผสมเขียว (เช่น รางน้ำ เส้นทางน้ำ ท่อน้ำ และบ่อเก็บน้ำ) ต้องโน้มน้าวผู้บริหารให้เห็นความสำคัญและตกลงอนุมัติโครงการ โดยสถานการณ์จำลองเหล่านี้จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขับเคลื่อนและดำเนินมาตรการการปรับตัวเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมคิดวิเคราะห์พร้อมหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เกิดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทาง และหามาตรการที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งผลลัพธ์จากการอบรมจะนำไปสู่การออกแบบมาตรการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับลุ่มน้ำยม-น่าน ช่วยให้ชุมชนสามารถรับมือกับวิกฤตน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

คุณวีระพงษ์ ดีมิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านวังน้ำบ่อ ตำบลวังวน อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า “การอบรมครั้งนี้ทำให้เห็นความสำคัญในการฟื้นฟูระบบนิเวศ รณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม รักษาแหล่งน้ำในชุมชนให้สมบูรณ์ เพื่อลดผลกระทบจากโลกร้อน สามารถนำไปเสริมกับโครงการอื่นๆ ของชุมชนได้ เช่น โครงการหมู่บ้านยั่งยืน”

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ชป. และ GIZ ภายใต้โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน(Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture: E-WMSA) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ได้เล็งเห็นความจำเป็นว่าภาครัฐและภาคประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาในพื้นที่ โดยโครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ 200 ตารางกิโลเมตรใน 3 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งสิ้น 62,000 คน ใน 20,000 ครัวเรือน ผ่านการให้ความรู้ทางเทคนิค เช่น การประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับการศึกษาระบบนิเวศในพื้นที่ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นมาตรการการปรับตัว การมีส่วนร่วมและความร่วมมือของทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำยม-น่าน จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การออกแบบและคัดเลือกมาตรการการปรับตัวในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นที่ยอมรับและเหมาะสมกับพื้นที่อย่างแท้จริง

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN