30 พฤษภาคม 2567

GGC-GIZ ร่วมประกาศความสำเร็จการผลิตน้ำมันปาล์มยั่งยืน

เรื่องและภาพ: การผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน/กลุ่มโครงการเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้บริหารจาก GGC และผู้แทนจาก GIZ ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกภายหลังเสร็จสิ้นพิธีการช่วงเช้า

พังงา 30 พฤษภาคม 2567 – บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ของเยอรมัน (GIZ) รวมทั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ร่วมกันประกาศความสำเร็จในการยกระดับ มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน

พิธีฉลองความสำเร็จของโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Sustainable Palm Oil Production and Procurement หรือ SPOPP) ครั้งนี้ จัดขึ้น ณ โรงแรมอวานีพลัส เขาหลัก จังหวัดพังงา โดยมีผู้แทนจาก GGC และ GIZ  รวมทั้ง  องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน หรือ RSPO ประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 60 ท่านเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยภายในงาน มีการนำเสนอข้อมูลความสำเร็จของโครงการฯในหัวข้อ “เส้นทางความสำเร็จของการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน” จากผู้ที่มี ส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและรับซื้อ ทั้งเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองจาก RSPO ประเทศไทย ไปจนถึงโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน และ GGC 

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ GGC ให้เกียรติกล่าวเปิดงานดังนี้ “เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรร่วมกับ GIZ  การทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นำมาสู่การยกระดับมาตฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายย่อย ได้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง นำมาสู่การพัฒนาการจัดการสวนปาล์ม จนได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO เสริมศักยภาพให้กับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มในการแข่งขันและเชื่อมโยงการเข้าถึงตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับโลก”

นายกฤษฎากล่าวเพิ่มเติมว่า GGC และ GIZ รวมทั้งพันธมิตรใน 4 จังหวัดนำร่องได้แก่ ชุมพร กระบี่ ตรัง และพังงาได้ร่วมบันทึกข้อตกลงยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนผ่านโครงการSPOPP เมื่อปีพ.ศ. 2565  ที่ผ่านมาเพื่อ ส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล มุ่งหวังยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ 

ในประเทศไทย มีผู้ผลิตวัตถุดิบปาล์มน้ำมันตามมาตรฐาน RSPO ค่อนข้างน้อย เนื่องจากเกษตรกรส่วนมากเป็นเกษตรกร รายย่อย จึงควรมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยให้ความรู้งบประมาณสนับสนุนและเป็นตัวแทนในการผลักดัน ภาครัฐควรมี การส่งเสริม หรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับมาตรฐานพร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มในราคาขายตอบสนองกระแสความต้องการในปัจจุบันและอนาคตในระยะยาว 

 ดร.กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้อำนวยการโครงการ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ SPOPP ได้สร้างสะพาน เชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน และกลุ่มเกษตรกร รายย่อยให้คำนึงถึงความสำคัญของ การเสริมสร้างศักยภาพผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง การฝึกอบรมเกษตรกรรายย่อย ผ่านหลักสูตร “พัฒนาเกษตรกรรายย่อย ของไทยในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน” (Thailand Oil Palm Smallholder Academy)  หรือ TOPSA และการสร้าง แอปพลิเคชั่น i-Palm เพื่อจัดการฐานข้อมูลสวนแบบดิจิทัล 

ดร.กนกวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ SPOPP ร่วมมือกับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 6 แห่ง เพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร รายย่อยรวมกว่า 1,000 ราย ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรรายย่อยทั้ง 6 กลุ่ม ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐาน RSPO  ในกลุ่มนี้ มี 2 กลุ่มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO เรียบร้อยแล้ว ความสำเร็จนี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil) 11,047 ตัน และน้ำมันเมล็ดใน (Crude Palm Kernel Oil)1,243 ตัน ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตามมาตรฐาน RSPO เข้าสู่ตลาดโลก 

ด้านนายยุทธนา จรุงการ ผู้จัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน RSPO – พังงา ในฐานะตัวแทนเกษตรกรสวนปาล์ม น้ำมัน กล่าวในเวทีเสวนาว่า “การที่เกษตรกรรายย่อยจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองอาจเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะหากไม่มีพี่เลี้ยงและงบประมาณสนับสนุน  โครงการ SPOPP ทำให้กลุ่มเรากล้าที่จะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน โครงการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในทุกกระบวนการ ให้คำแนะนำจนกลุ่มของเราได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทัศนคติที่เปิดกว้างของสมาชิกทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับการบริหารจัดการกลุ่ม เราไม่ได้ต้องการหยุดพัฒนาเพียงแค่เพราะได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO แล้วเท่านั้น เรายังมองเห็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอดเรื่องตลาดคาร์บอนเครดิตได้อีกในระยะยาว” 

แกลอรี่ภาพ

วิดีโอ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN