05 ตุลาคม 2566

สหภาพยุโรปกับกฎระเบียบ EUDR:มาตรการกีดกันทางการค้าหรือโอกาสทางการค้าของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทย

เรื่อง: กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ภาพ:โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (SPOPP)

สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้กำหนดกฎระเบียบใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิม เพื่อพยายามลดปัญหาการทำลายพื้นที่ป่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ตลอดจนปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานจากภาคการเกษตรทั่วโลก ซึ่งมีชื่อว่า EU Deforestation Regulation หรือ EUDR คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2567 ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อการทำลายป่ามากที่สุด ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และเนื้อไม้ ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าดังกล่าว เช่น ช็อกโกแลต เครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์   ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจที่จดทะเบียนอยู่ใน EU และคู่ค้าทางธุรกิจจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องและวิเคราะห์สถานะความเสี่ยง (due diligence) ในห่วงโซ่การผลิตของตนจนถึงแหล่งกำเนิด เพื่อพิสูจน์ว่าการดำเนินธุรกิจของตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายพื้นที่ป่า

การทำ due diligence  ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

การรวบรวมข้อมูล – รวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่แหล่งกำเนิด ได้แก่ พิกัดทางภูมิศาสตร์ของแปลงปลูก และระยะเวลาให้ผลผลิต

การประเมินความเสี่ยง– นำข้อมูลที่รวบรวมมาประเมินความเสี่ยงต่อการทำลายพื้นที่ป่า และมีการกระทำขัดต่อกฎหมายระหว่างการผลิตหรือไม่

การบรรเทาผลกระทบ– หากพบความเสี่ยง  ต้องดำเนินการลดความเสี่ยงให้ลงมาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (เช่น เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น สัมภาษณ์ ทดสอบในห้องปฏิบัติการ การตรวจประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ)

ในปี พ.ศ. 2565  ประเทศไทยได้ส่งออกสินค้า 7 กลุ่มดังกล่าวไป EU คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์มากที่สุด คิดเป็น 11.5% รองลงมาคือไม้และผลิตภัณฑ์แปรรูป คิดเป็น 1.36% และปาล์มน้ำมันและอนุพันธ์ของน้ำมันปาล์ม คิดเป็น 1.30% ตามลำดับ แน่นอนว่า EUDR ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูกในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำการเกษตรแบบยั่งยืนได้กลายเป็นรากฐานสําคัญในการได้รับความไว้วางใจจากตลาดยุโรป รัฐบาลไทยตระหนักถึงแรงกดดันจากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเร่งดําเนินการปรับปรุงมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ ยับยั้งการตัดไม้ทําลายป่า และแก้ไขปัญหาด้านสิทธิแรงงาน

หากเจาะดูอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยจะพบว่า มากกว่า 90% ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยปรับเปลี่ยนมาจากพื้นที่การเกษตรอื่นๆ เช่น สวนยางพารา สวนผลไม้ นาข้าว และส่วนมากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันล้วนมีกรรมสิทธิถือครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบมากกว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ความร่วมมือของผู้ประกอบการภายในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและองค์กรระหว่างประเทศนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่เป้าหมายความยั่งยืน โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (SPOPP) ดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ให้การสนับสนุนเกษตรกรประมาณ 1,000 รายให้หันมาปลูกปาล์มแบบยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลอย่าง Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO)

นอกจากนั้น โครงการ SPOPP ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันการจัดการฐานข้อมูลฟาร์มแบบดิจิทัลที่เรียกว่า “i-Palm” ซึ่งช่วยเกษตรกรในการรวบรวมข้อมูล เช่น พิกัดทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และระยะเวลาการให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่จําเป็นต่อการตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทานไปยังแหล่งกำเนิด (traceability) และเป็นไปตามหลักการในการตรวจสอบความถูกต้องและวิเคราะห์สถานะความเสี่ยง (due diligence) ภายใต้กฎระเบียบ EUDR ดังนั้นสินค้าน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO จึงมีความน่าเชื่อถือว่าไม่ตัดไม้ทําลายป่า ปกป้องสิ่งแวดล้อม และป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน

แม้ว่าเส้นทางจะลําบาก แต่กฎระเบียบ EUDR กลับส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยในการสร้างโอกาสทางการค้ามากกว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งนี้ กฎระเบียบ EUDR ไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมและปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ยังผลักดันนวัตกรรมหลายอย่างเพื่อมาสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนและบรรลุเป้าหมาย ในการเป็นกลางทางคาร์บอน (net-zero) ของประเทศ หากประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ได้สำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายอื่นๆ ต่อไป

อ้างอิงจาก:

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

แกลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN