17 พฤษภาคม 2562

ข้าวหอมมะลิ … กลิ่นละมุนของความสำเร็จจากเกษตรกรอุบลฯ

เขียนโดย: ปรางทอง จิตรเจริญกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย

กว่าทุ่งนาของ นางบุญเติม ล้วนดี เกษตรกรวัย 50 ปีจากอําเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานีจะเจริญงอกงามและสร้างรายได้ให้กับเธอนั้น นางบุญเติมต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานพอสมควร

เธอใช้ชีวิตปลูกข้าวมานานกว่า 20 ปี จนอาชีพทำนาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เมื่อคุณภาพของข้าวไม่ดี การขายข้าวจึงกลายเป็นเรื่องยาก และส่งผลกระทบต่อรายได้ของเธอและครอบครัว

“ฉันไม่เคยได้กำไรจากการปลูกข้าว และไม่เคยปลดหนี้ได้เลย”

นางบุญเติมเชื่อมาตลอดว่า การใช้ปุ๋ยในปริมาณมากจะทำให้ผลผลิตดี จนวันที่เธอได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (เบรีย) เธอได้เรียนรู้เทคนิคผลิตข้าวอย่างยั่งยืนตามมาตราฐานของ Sustainable Rice Platform หรือ SRP ซึ่งเป็นมาตรฐานความยั่งยืนสำหรับข้าวมาตรฐานแรกของโลก ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

เธอตัดสินใจละทิ้งความเชื่อเดิม  และในปี พ.ศ. 2558  เธอเริ่มเอาความรู้ที่ได้จากโครงการเบรียมาปรับใช้ในแปลงข้าวหอมมะลิ จำนวน 11 ไร่ อย่างเหมาะสมช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา นางบุญเติมมีรายได้เพิ่มจากเดิม 10,000 – 20,000 บาท เป็น 30,000 – 45,000 บาท

นางบุญเติมบอกว่า เคล็ดลับในการผลิตข้าวที่ดี คือ ลดการใช้ยาฆ่าแมลง และหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพในปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพแปลงนา

“พอใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงน้อยลง ค่าใช้จ่ายก็น้อยลงตาม ค่าใช้จ่ายหายไปเกินครึ่ง ตอนนี้ ฉันมีเงินใช้หนี้ และเริ่มมีเงินเก็บให้กับครอบครัว”

ในปี พ.ศ. 2560 ผู้ตรวจสอบจากต่างประเทศพบว่า 84 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรที่ผลิตข้าวตามมาตราฐานของ SRP ภายใต้โครงการเบรียระยะที่ 1 ในจังหวัดอุบลราชธานี ปลูกข้าวเป็นไปตามมาตราฐานสากลเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน

นางบุญเติม ล้วนดี เกษตรกรวัย 50 ปีกับสัตว์เลี้ยงแสนรักในทุ่งนา อําเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี

เกษตรกรอีกคนที่ปลูกข้าวตามมาตรฐานข้าวยั่งยืน นางดวงจันทร์ วิชลิน จากอำเภอสำโรง บอกว่า หลังจากที่เธอเข้าใจผลประโยชน์จากการปลูกข้าวตามมาตรฐานความยั่งยืน (SRP) และนำไปปฏิบัตินั้น เธอมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมากกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการด้วยซ้ำ นางดวงจันทร์ใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงน้อยลง และหันไปใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์แทน ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 58 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 360 กิโลกรัมต่อไร่ในเป็น 570 กิโลกรัม และคุณภาพข้าวก็ดีขึ้นด้วย นางดวงจันทร์ วิชลิน อายุ 55 ปี จากอำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี หยุดเผาตอซัง เพราะเข้าใจดีถึงผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน

“ฉันไปซื้อที่นาเพิ่ม และไม่ต้องกังวลเรื่องส่งลูกเรียนแล้ว” นางดวงจันทร์ในวัย 55 ปี ได้ผันตัวมาเป็นหัวหน้าเกษตรกรทำหน้าที่ส่งต่อความรู้และประสบการณ์การปลูกข้าวยั่งยืนที่เป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนเกษตรกรคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน

โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (เบรีย) Better Rice Initiative Asia (BRIA) เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมการข้าวและบริษัท โอแลม จำกัด ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันที่จะพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนภายในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน SRP

นางบุญเติม ล้วนดี เกษตรกรวัย 50 ปีกับสัตว์เลี้ยงแสนรักในทุ่งนา อําเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
นางบุญเติม ล้วนดี เกษตรกรวัย 50 ปีกับสัตว์เลี้ยงแสนรักในทุ่งนา อําเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
นางบุญเติม ล้วนดี อายุ 50 ปี เกษตรกรโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย หรือ เบรีย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
นางบุญเติม ล้วนดี อายุ 50 ปี เกษตรกรโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย หรือ เบรีย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN