ระยะเวลาดำเนินโครงการ : เมษายน 2561 - กุมภาพันธ์ 2565

โครงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ผ่านการเชื่อมโยงตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย

เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีเนื้อที่ถือครองน้อยกว่า 1 แฮคแตร์และเมื่อไม่มีการรวมกลุ่มเกษตรกรก็ยิ่งทำให้เกษตรกรอยู่ในตำแหน่งที่ขาดอำนาจในการต่อรองในการเข้าถึงตลาด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและขาดการเข้าถึงวิธีการผลิตที่ทันสมัย ไม่มีความรู้เพียงพอในเรื่องการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลทางการเกษตร รวมถึงการได้รับบริการด้านการเงิน

ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็คำนึงถึงคุณภาพของข้าว ซึ่งส่งผลให้เกิดการตั้งกฏระเบียบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในอาหาร คุณภาพและระบบการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อย่างไรก็ตามผู้ผลิตข้าวจากประเทศไทย เวียดนามและอินโดนีเซียกำลังเผชิญความยากลำบากในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฏระเบียบด้านความปลอดภัยในอาหารและสนองความต้องการของประเทศผู้นำเข้าข้าวที่มีมากขึ้น หากการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งออกยังไม่มีประสิทธิภาพ การควบคุมคุณภาพข้าวก็ยังมีเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและมีความเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ ภาคการเกษตรยังได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกและเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวจึงเผชิญความเสี่ยงจากการเข้าถึงตลาดสากลเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ขาดรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว

วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ผ่านการเชื่อมโยงตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย

ประเทศ

ประเทศไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย

แนวทางการดำเนินงาน

โครงการฯ จะดำเนินการลดสารเคมีตกค้างในห่วงโซ่คุณค่าข้าว พร้อมทั้งนำเสนอระบบรับประกันคุณภาพข้าว มาตรการเหล่านี้จะสอดคล้องกับกฏหมายความปลอดภัยทางอาหาร ข้อบังคับของภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกฏระเบียบของสังคม
และสิ่งแวดล้อมสำหรับการผลิตและการแปรรูปข้าว ซึ่งกลยุทธ์หลักของโครงการฯ คือ การสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระยะยาว และมีประสิทธิภาพระหว่างผู้มีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่การผลิต
เพื่อบรรลุกลยุทธ์ดังกล่าว เวทีข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) ที่เกิดการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ สหประชาชาติ (UN) และสมาชิกกว่า 100 สถาบัน/องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงผลกำไร ชุมชนวิจัยนานาชาติ ได้พัฒนามาตรฐานข้าวยั่งยืน (SRP Standard) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานแรกสำหรับการผลิตข้าวที่มุ่งสู่ความยั่งยืนในระดับโลก ที่มีการรับรองและค้าขายได้ มาตรฐานข้าวยั่งยืนนี้ ได้กำหนดเงื่อนไขทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สามารถตรวจวัดได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าการผลิตข้าวยั่งยืน โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยผ่านการสร้างศักยภาพและระบบการจัดการกลุ่ม
ในปีพ.ศ. 2559 กรมการข้าว โอแลม UTZ และ GIZ ได้ร่วมกันนำร่องทดสอบมาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืนกับเกษตรกรจำนวน 2 กลุ่มภายใต้โครงการเบรีย เพื่อพัฒนาการเข้าถึงตลาดสำหรับเกษตรกรที่มีต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และแปลงสาธิตเทคโนโลยี สำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับเกษตรกร

ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา

  • เกษตรกรจำนวน 9,226 ราย (เพศชาย 4,223 รายและเพศหญิงจำนวน 5,003 ราย) ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตข้าวยั่งยืนและการเชื่อมโยงตลาดข้าวยั่งยืน ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 20
  • เกษตรกรจำนวน 4,291 รายในประเทศไทยได้รับการตรวจรับรองตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนและได้คะแนนการปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานข้าวยั่งยืนที่ร้อยละ 93.86 ซึ่งเป็นระดับของผู้ที่ปลูกข้าวด้วยวิธีแบบยั่งยืน
  • พื้นที่ปลูกข้าว 19,412 แฮกแตร์ได้รับการปลูกข้าวด้วยวิธีแบบยั่งยืน และข้าวยั่งยืนจำนวน 67,780 ตันขได้ถูกป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่ข้าวยั่งยืน
  • องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน 34 แห่งในส่วนกลางและท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตข้าวยั่งยืน

ผู้สนับสนุนด้านงบประมาณ

Crop Life International

หน่วยงานร่วมดำเนินการ

กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร Crop Life International และ Olam International
ติดต่อ
มร.เกอมันน์ มูลเลอร์

เอกสารที่เกี่ยวข้อง