ระยะเวลาดำเนินโครงการ : กันยายน 2561 – สิงหาคม 2565

การผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตน้ำมันปาล์มสูง คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าร้อยละ 70 ในพื้นที่ผลิตปาล์มน้ำมันทั้งหมด เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่มีความรู้จำกัดในเรื่องการปรับปรุงการใช้ปุ๋ย และการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้เกษตรกรยังขาดเงินทุนเพื่อยกระดับสวนปาล์ม ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยมีการผลิตที่มีคุณภาพต่ำและได้ผลผลิตน้อย เห็นได้จากอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มที่จากผลปาล์มน้ำมันในโรงงานสกัดต่ำ
นอกจากนี้ในปัจจุบัน มีเพียงร้อยละ 2 จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั่วประเทศไทยที่ผลิตโดยผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) ซึ่งเป็นผลผลิตจากเกษตรกรและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่ผ่านการรับรอง ดังนั้น การสนับสนุนโครงการฝึกอบรมสำหรับเกษตรกรรายย่อยจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการยกระดับการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การจัดฝึกอบรมให้กับเกษตรกรรายย่อยยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณที่จำกัด การขาดแคลนวิทยากรที่มีคุณภาพ รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในการตรวจวัดและการรายงานก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลให้ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกไม่สามารถติดตามหรือตรวจสอบได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงยังคงหาแนวทางในการขยายผลการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เช่น การผ่านการรับรองเชิงพื้นที่ซึ่งยังไม่มีโครงการใดที่เริ่มดำเนินการ

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ประเทศ

ไทย อินโดนีเซีย และเยอรมนี

แนวทางการดำเนินงาน

โครงการฯ ดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ดังนี้

  • เพิ่มพูนศักยภาพของเกษตรกรปาล์มน้ำมันให้ผ่านการรับรองมาตรฐานน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ (เช่น มาตรฐาน RSPO) ผ่านการฝึกอบรมวิทยากรอย่างเข้มข้น
  • เพิ่มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนผ่านการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนตลอดห่วงโซ่
  • พัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับติดตามและรายงานผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการนำวิธีปฏิบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกของเกษตรกรรายย่อยไปใช้
  • กำหนดกรอบนโยบายเพื่อขยายผลการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการรับรองเชิงพื้นที่ โดยมีคำมั่นสัญญาจากภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าน้ำมันปาล์มทั้งหมดที่ผลิตจากขอบเขตพื้นที่ปกครองของตน (เช่น ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ) ผ่านการรับรองมาตรฐานน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน

ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา

  • โครงการฯ ได้ร่วมมือกับเกษตรกรรายย่อยจำนวน 69 กลุ่ม มีสมาชิก 3,300 ราย ซึ่งปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพื้นที่มากกว่า 54,000 ไร่ ใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร
  • การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมวิทยากร หรือที่เรียกว่า “หลักสูตรเกษตรกรรายย่อยด้านปาล์มน้ำมันของประเทศไทย: TOPSA” ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะเริ่มทำการฝึกอบรมวิทยากรเป้าหมาย จำนวน 120 ราย และเกษตรกรรายย่อย 3,200 รายในเดือนกรกฏาคมพ.ศ. 2563 นี้
  • โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 18 แห่ง ได้เข้าร่วมโครงการและยินดีที่จะสนับสนุนผลปาล์มน้ำมันที่ผลิตอย่างยั่งยืนโดยเกษตรกรรายย่อย ผ่านการทำข้อตกลงร่วมกัน นอกจากนี้ ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยไปแล้ว 7 ฉบับ
  • การศึกษามาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมสำหรับสวนปาล์มน้ำมันในประเทศไทยร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมาตรการ 5 ข้อ จาก 12 ข้อ ได้รับการประเมิน จัดลำดับ และแนะนำให้เป็น “มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมสำหรับสวนปาล์มน้ำมันในประเทศไทย” และได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรม TOPSA ภายใต้หัวข้อด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
  • เครื่องมือในการคำนวณสำหรับติดตามและรายงานผลการลดก๊าซเรือนกระจกพร้อมสำหรับใช้งาน

ผู้สนับสนุนด้านงบประมาณ

กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU)

หน่วยงานร่วมดำเนินการ

กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร (ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
ติดต่อ
กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ
Project Manager

เอกสารที่เกี่ยวข้อง