20 ตุลาคม 2565

สืบสานการปลูกกาแฟโรบัสต้า – มรดกแห่งขุนเขา

เรื่อง: อภิรดี ตรีรัตน์เกื้อกูล ภาพ: โครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทย

สุดา บุญสิทธิ์ คือเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้ารุ่นที่สอง ครอบครัวของสุดาย้ายถิ่นฐานจากนครราชสีมา ประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ลงมาตั้งหลักปักฐานที่อำเภอละอุ่น จังหวัดระนองเมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่า “ฝนแปด แดดสี่” ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528 ตามนโยบายส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ของภาครัฐในยุคสมัยนั้น แม้ว่าสุดาจะมีอายุเพียง 8 ปี แต่เธอจำได้ดีว่า คุณแม่ของเธอเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ ลงมือปลูกพืชผลต่าง ๆ ในพื้นที่ มีทั้งยางพารา ผลไม้เมืองร้อนและที่สำคัญคือ “กาแฟโรบัสต้า”  35 ปีที่คุณแม่ของสุดาตั้งใจทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างสุจริต ทุ่มเทหยาดเหงื่อ แรงกายและทุนทรัพย์ ทำให้ทุกวันนี้ครอบครัวของสุดามีกินมีใช้ไม่ลำบากเดือดร้อน

สุดาเล่าว่า ก่อนคุณแม่ของเธอจะจากไปเมื่อสามปีที่แล้ว แม่ขอให้เธอและครอบครัวยังคงอาชีพเกษตรกรและปลูกกาแฟต่อไป ไม่ตัดต้นกาแฟทิ้งเพียงเพราะผลผลิตและราคาไม่ดีเท่ากับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างทุเรียนที่กำลังได้รับความนิยมมาก “ดิฉันยังจำได้ดีว่า คุณแม่เป็นผู้หญิงที่ทั้งเก่งและแกร่ง สู้งานหนักเพื่อครอบครัว ขับรถกระบะเก่า ๆ บรรทุกเมล็ดกาแฟที่เก็บได้เต็มคันรถลงเขาผ่านทางลูกรัง ดินโคลน ไปค้างคืนในเมืองเพื่อรอขายกาแฟ เป็นอย่างนี้มาตลอดจนดิฉันโตขึ้นและสามารถช่วยท่านได้ ท่านจึงหยุดพักผ่อนและให้เราสานต่อ ครอบครัวเราลืมตาอ้าปากได้ทุกวันนี้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเพราะกาแฟ ดิฉันเข้าใจคำขอของคุณแม่ดี และจะไม่ตัดต้นกาแฟทิ้งเพราะกาแฟมีบุญคุณกับครอบครัว เราอยู่อย่างพอเพียง เชื่อว่าเกษตรยั่งยืนจะช่วยให้เราอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก” สุดากล่าว

สุดา บุญสิทธิ์ พร้อมสามี ลิขิต และด.ช.ปัญญา ลูกชาย

ปัจจุบัน สุดาและลิขิตผู้เป็นสามี ยังคงสืบสานความตั้งใจของมารดาในการปลูกกาแฟบนพื้นที่ 19 ไร่ ควบคู่ไปกับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่รัฐส่งเสริม เช่นทุเรียน มะพร้าว หมาก พร้อมกับผลไม้เมืองร้อนที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกอย่างมังคุด กล้วยหอม ลองกอง เงาะ ฯลฯ ตามแนวทางเกษตรแบบผสมผสาน ที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมอบรมในฐานะสมาชิกโครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562

นิสัยรักการอ่านและการเขียนคือความชอบส่วนตัวที่สุดาสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดทักษะการเป็น “ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ” ได้เป็นอย่างดีผ่านการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน 

เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทยยังมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐคือกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งภาคเอกชนคือ เนสท์เล่ ประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 7 ปี โดยจัดทำหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกร” ในการพัฒนาทักษะด้านการบริหาร และการดำเนินธุรกิจให้ทั้งเกษตรกรรายย่อย และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วย โดยผลผลิตกาแฟโรบัสต้าที่ได้จากพื้นที่นี้ ทางเนสท์เล่จะนำไปผลิตเป็นกาแฟสำเร็จรูปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

พจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทย

พจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทยกล่าวว่า โครงการนี้ทำงานเพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าใน 3 ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 10,500 ราย ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศไทย 2,000 ราย เป้าหมายคือการพัฒนาระบบการเกษตรให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับเกษตรกรรายย่อยมากที่สุด โดยฝึกฝนให้มีทักษะการเป็นนักธุรกิจการเกษตรที่ดี  มีความรู้และสามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติใช้ได้จริง เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ผ่านระบบการจัดการพื้นที่เกษตรแบบผสมผสาน เพิ่มผลผลิตให้ดีมีคุณภาพ เพื่อเพิ่มรายได้และศักยภาพการแข่งขันของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยของไทย ให้มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดระดับนานาชาติ

หลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรช่วยให้สุดาและครอบครัว รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยนับพันรายในจังหวัดระนอง ชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียงได้เรียนรู้วิธีแนวทางการเป็นนักธุรกิจเกษตร สามารถวางแผนค่าใช้จ่ายครัวเรือน และเรียนรู้วิธีการจัดการพืชสวนเกษตรของตนเองอย่างเหมาะสมทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายเช่น ปุ๋ยที่นับวันจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น เมื่อลดต้นทุนและรายจ่ายได้ ก็หมายถึงรายได้หมุนเวียนในครอบครัวที่มีเพิ่มขึ้น 

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการเกษตรทั้งในระดับพื้นที่และระดับบริหาร คืออีกหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการฝึกอบรมหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจเกษตร เจ้าหน้าที่ระดับพื้นทำงานกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด สามารถช่วยถ่ายทอดทักษะในฐานะผู้ฝึกอบรมไปยังเกษตรกรในพื้นที่ของตน เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายสามารถขยายผลของโครงการไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น

ยงยุทธ จันทเขตต์ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยสู่ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟโรบัสต้า
ยงยุทธ จันทเขตต์ คืออีกหนึ่งตัวอย่างเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยสมาชิกโครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทย เขาสามารถก้าวข้ามสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟได้อย่างภาคภูมิใจ ครอบครัวของยงยุทธมีพื้นฐานคล้ายกับครอบครัวของสุดา คือย้ายถิ่นฐานจากนครราชสีมาเพื่อมาตั้งรกรากและทำอาชีพเกษตรที่อำเภอกระบุรี ระนองเมื่อปี พ.ศ. 2529 ยงยุทธมีพ่อเป็นต้นแบบของการต่อสู้ ไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก ปัญหาอุปสรรคและซึมซับความรักในกาแฟตั้งแต่เขายังเด็ก อาชีพเกษตรกรต้องทำงานหนัก แต่เขาไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้และไม่ปฎิเสธที่จะเข้าร่วมอบรมกับโครงการคอฟฟีพลัส เมื่อปี พ.ศ. 2562

“ผมรักกาแฟเพราะเห็นสิ่งที่พ่อทำและสร้างไว้ เป็นความรักที่เราได้เห็นตั้งแต่ยังเด็ก เห็นความใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ปลูกจน การเก็บเมล็ดเชอร์รี่ การตาก ฯลฯ จึงอยากสานต่อสิ่งที่พ่อทำไว้ให้ดีขึ้น แต่ตอนที่ได้รับช่วงปลูกกาแฟต้องยอมรับว่า ผมเองไม่มีความรู้ด้านการตลาดเลย ต้องเริ่มนับหนึ่งทุกอย่างเช่นกัน ต้องหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา” ยงยุทธกล่าว

ด้วยความใฝ่รู้และคิดนอกกรอบ ยงยุทธมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรที่ประสบผลสำเร็จ จึงเริ่มเรียนรู้กรรมวิธีการปลูกกาแฟให้ได้กาแฟสารที่มีคุณภาพ ได้ราคาดี เรียนรู้วิธีการคั่วกาแฟ ปัจจุบัน ยงยุทธภูมิใจกับงานเกษตรที่ตนเองต่อยอดจากผู้เป็นบิดา  รายได้จากกาแฟโรบัสต้า 1,500 ต้นควบคู่ไปกับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในสวนเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งทุเรียน ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากการปลูกกาแฟโรบัสต้าอื่น ๆ ทั้ง เมล็ดกาแฟคั่ว ชาดอกกาแฟ ทำให้ครอบครัวมีรายได้ตลอดปี ลูกสาวและภรรยาของยงยุทธช่วยกันหาช่องทางการตลาดเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์เกษตรของครอบครัวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียด้วย

ทุกวันนี้เรามีอุปกรณ์ของตัวเอง มีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ยอมรับว่าภูมิใจกับทุกอย่างที่เราลงทุนลงแรงไปออกดอกผล ไม่สูญเปล่ายงยุทธกล่าว
ศันสนีย์ นิติธรรมยง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมไม้ยืนต้น กรมส่งเริมการเกษตร
ศันสนีย์ นิติธรรมยง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมไม้ยืนต้น กรมส่งเริมการเกษตรกล่าวว่า “เกษตรกรรมคือส่วนที่สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เราส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผสานทั้งพืชเศรษฐกิจอย่างกาแฟ” วัตถุประสงค์ของโครงการคอฟฟีพลัสคือ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมีรายได้ตลอดทั้งปี และสามารถนำความรู้จากหลักสูตรนักธุรกิจเกษตรไปต่อยอดและขยายผลเพื่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยในจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก พื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง

รศ.ดร.สุธัญญา ทองรักษ์ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รศ.ดร.สุธัญญา ทองรักษ์ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวว่า การอบรมเกษตรกรและเจ้าหน้าที่การเกษตรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้ตนเองเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่ดีกับเกษตรกรที่ได้เข้าร่วมโครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทย
“เกษตรกรในภาคเกษตรของเราเก่งและมีศักยภาพ แต่ยังมีข้อจำกัด ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทักษะการอบรมและเรียนรู้ หากเกษตรกรได้รับโอกาสเหล่านี้ฝึกฝน มีโค้ชที่ดี และมีทัศนคติที่ใช่ อาจารย์เชื่อว่า พวกเขาจะสามารถผ่านอุปสรรคและพัฒนาได้อีกไกลในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร” รศ.ดร.สุธัญญากล่าว

ทาธฤษ กุณาศลผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
นายทาธฤษ กุณาศล ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า องค์กรมองเห็นศักยภาพในเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตกาแฟ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ความต้องการผลผลิตกาแฟโรบัสต้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปีและมีตลาดรับซื้อที่ชัดเจน

“ความร่วมมือภาครัฐที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทย คือโอกาสสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้ารุ่นใหม่ๆ ให้ไม่หยุดเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตกาแฟโรบัสต้าให้มีคุณภาพ เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนในระยะยาว”

คุณพจมาน ในฐานะผู้อำนวยการโครงการคอฟฟีพลัส ประเทศไทยกล่าวปิดท้ายว่า “เราภูมิใจที่ความพยายามของโครงการในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสามารถเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้เห็นเกษตรกรมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีผ่านการปลูกพืชร่วมแบบผสมผสาน มีรายได้ตลอดปีจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม นำมาสู่ความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย”

แกลเลอรี่ภาพ

วิดีโอ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN