30 มิถุนายน 2566

การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยโมเดล BCG

เรื่องและภาพ: ธิตินัย พงศ์พิริยะกิจ กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร GIZ ประเทศไทย

การทำการเกษตรในปัจจุบันนอกจากจะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ประเทศไทยเองนั้นก็มีแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวผ่านทางโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ประกอบไปด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ

  • เศรษฐกิจชีวภาพ (B: Bio Economy) การนำทรัพยากรที่มีมาสร้างมูลค่า โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรม
  • เศรษฐกิจหมุนเวียน (C: Circular Economy) เป็นการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด
  • เศรษฐกิจสีเขียว (G: Green Economy) เป็นการให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจ
เจ้าหน้าที่กรมวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตรและ GIZ ร่วมประชุมกับเกษตรกรเพื่อจัดทำแปลงต้นแบบ

การผลักดันโมเดลดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จึงจะทำให้เกิดผลสำเร็จ ในส่วนของพืชปาล์มน้ำมัน กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ในการพัฒนาองค์ความรู้การผลิตปาล์มน้ำมันร่วมกับเกษตรกร เพื่อยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนสู่มาตรฐานสากล ไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม โดยกรมวิชาการเกษตรมีบทบาทในการจัดทำหลักสูตรและจัดทำแปลงสาธิตและแปลงต้นแบบเกษตรกร

เจ้าหน้าที่กรมวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตรและ GIZ ร่วมเยี่ยมชมแปลงเกษตรกรเพื่อคัดเลือกทำแปลงต้นแบบ

แปลงสาธิตฯ มีด้วยกัน 2 ที่ โดยตั้งอยู่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี  ส่วนแปลงต้นแบบ (แปลงปาล์มน้ำมันของกลุ่มเกษตรกร) มีการดำเนินงานในแปลงเกษตรกร 3 จังหวัดของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญของภาคใต้ตอนบนที่ร่วมโครงการฯ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร ประกอบด้วยแปลงสาธิตจำนวน 3 แปลง แปลงละ 10 ไร่ และแปลงต้นแบบจำนวน 15 แปลง แปลงละ 10 ไร่ ซึ่งแปลงทั้งหมดนี้มีการจัดการในรูปแบบ BMP (Best Management Practices) ควบคู่กับ 5 มาตรการลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas)

การจัดการในรูปแบบ BMP เป็นการจัดการที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย 1) Yield Taking เป็นการจัดการการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถเพิ่มผลผลิตในระยะสั้น 6 เดือน และ 2) Yield Making เป็นการจัดการที่ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นผลในระยะยาว (2-3 ปี) หลังจากการดำเนินการ ได้แก่ การตรวจประเมินต้นปาล์ม การใช้เทคโนโลยีการผลิตปาล์ม การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบการใช้ปุ๋ยตามหลัก 4Rs ซึ่งหมายถึง Right source (ถูกชนิด) Right rate (ถูกอัตรา) Right time (ถูกเวลา) และ Right place (ถูกตำแหน่ง)

นอกจากนั้น ยังนำ 5 มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกมาใช้เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนซึ่งประกอบด้วย

1) การเก็บเกี่ยวผลปาล์มสุก ในกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้น ซึ่งหากมีการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันทะลายสุกจะทำให้ได้ปริมาณของน้ำมันปาล์มต่อหน่วยพื้นที่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บเกี่ยวทะลายที่ไม่สุก ดังนั้นปริมาณของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยพื้นที่จะมีปริมาณน้อยกว่าหากมีการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันทะลายสุก

2) การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน-ใบ เป็นกระบวนการที่ใช้ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของปาล์มน้ำมัน ช่วยลดผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเกินความต้องการของปาล์มน้ำมันทำให้ปุ๋ยที่เหลือไปตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน หากมีการใช้ปุ๋ยให้ถูกชนิดและในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) ลงได้

3) การใช้ทะลายเปล่าคลุมดิน เป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ ปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดการไหลบ่าของน้ำ และลดการชะล้างหน้าดินภายในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการใส่ทะลายเปล่าช่วยในการกักเก็บคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกภายในแปลง นอกจากนี้ ยังมีการนำทางใบที่ได้จากการตัดแต่งมาปูภายในสวนน้ำมัน ซึ่งเป็นวิธีการที่ให้ผลเช่นเดียวกับการใช้ทะลายเปล่าคลุมดิน และเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ภายในแปลง

4) การปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน เป็นการป้องกันการชะล้างของหน้าดินในสวนปาล์มน้ำมัน และช่วยลดจำนวนวัชพืชภายในแปลง ทำให้ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชลดลง และยังช่วยในการกักเก็บคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกจากพืชตระกูลถั่วภายในแปลง ซึ่งในแปลงสาธิตมีการปลูกพืชตระกูลถั่ว คือ “ซีรูเลียม” เนื่องจากเป็นพืชที่ทนทานต่อโรค แมลง และทนทานต่อสภาพร่มเงาและความแห้งแล้ง ทำให้เถาและต้นของซีรูเลียมมีสีเขียวตลอดปี ทำให้โอกาสที่จะเกิดไฟไหม้ภายในสวนเป็นไปได้ยาก

5) การปลูกพืชร่วมในสวนปาล์มน้ำมัน เป็นการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนภายในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกแล้วยังเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการขายผลผลิตจากพืชร่วม และช่วยลดความเสี่ยงในด้านราคาของผลผลิตปาล์มน้ำมัน

จากการจัดการในรูปแบบ BMP (Best Management Practices) ควบคู่กับ 5 มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของแปลงสาธิตและแปลงต้นแบบการผลิตปาล์มน้ำมันของกรมวิชาการเกษตร สอดคล้องกับโมเดล BCG (BCG Economy) ■

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN